5 เคล็ดลับควรรู้และปฏิบัติในการฝึกฟังภาษาอังกฤษ
1. ภาษาอังกฤษนั้นมีหลากหลายสำเนียง ทั้งภาษาอังกฤษของเจ้าของภาษาเองอย่างอเมริกัน อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และภาษาอังกฤษของประเทศที่ใช้เป็นภาษาราชการอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์
ซึ่งแน่นอนว่าบางคนอาจจะรู้สึกว่าสำเนียงหนึ่งฟังง่ายกว่าอีกสำเนียงหนึ่ง
อย่างเช่นสำเนียงอเมริกันฟังง่ายกว่าอังกฤษ หรือสำเนียงอังกฤษฟังง่ายกว่าอเมริกัน
ฯลฯ
แต่ว่าจริงๆ แล้ว
ไม่มีสำเนียงไหนฟังยากหรือง่ายกว่ากัน
แต่อยู่ที่ว่าเราคุ้นเคยกับสำเนียงไหนมากกว่ากันต่างหาก
อย่างเช่นถ้าเราชอบดูหนังฮอลลีวูดบ่อยๆ เราก็อาจจะคุ้ยเคยกับสำเนียงอเมริกัน
และฟังเข้าใจง่ายกว่าสำเนียงอื่นๆ ในขณะที่พอเราไปดูหนังอังกฤษอย่าง แฮร์รี
พอตเตอร์ ซึ่งพูดสำเนียงอังกฤษ เราก็อาจจะฟังแทบจะไม่ออกเลยก็ได้
เพราะฉะนั้น
หลักสำคัญในการฝึกฟังภาษาอังกฤษให้ออก ให้เข้าใจง่าย ก็คือ
ถ้าเราอยากฟังสำเนียงไหนออก ก็ให้ฝึกฟังสำเนียงนั้นเยอะๆ บ่อยๆ เป็นประจำ
ก็จะทำให้เราคุ้นเคยมากขึ้นและฟังออกได้ง่ายขึ้นเอง
2. โดยทั่วไปแล้ว
ไม่มีใครฟังภาษาอังกฤษได้เข้าใจทุกสำเนียง 100% เพราะแม้แต่ประเทศเดียวกันเองอย่างอังกฤษ
ก็ยังมีคนพูดภาษาอังกฤษหลากหลายสำเนียง แตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค แต่ละท้องที่
อย่างสำเนียงลอนดอน ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ก็จะไม่เหมือนกับสำเนียงทางเบอร์มิงแฮม
หรือแมนเชสเตอร์
ถ้าเราเริ่มฝึกฟังภาษาอังกฤษใหม่ๆ
อาจจะยังแยกไม่ค่อยออกว่าแต่ละสำเนียงต่างกันยังไง หรืออันนี้คือสำเนียงอะไร
แต่ว่าถ้าเราฝึกฟังบ่อยๆ มากขึ้นๆ แล้วก็จะค่อยๆ เห็นความแตกต่างและลักษณะเด่นๆ
ของแต่ละสำเนียงเอง ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่าอันนี้คือสำเนียงอะไรก็ตาม
แต่ว่าอย่างน้อยเราก็จะพอฟังออกว่าแต่ละสำเนียงมีบางอย่างแตกต่างกันอยู่บ้าง
ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่เจ้าของภาษาอังกฤษเองก็ยังฟังสำเนียงต่างท้องถิ่นได้ค่อนข้างยาก
หรืออาจจะต้องใช้เวลาในการปรับตัวปรับความคุ้นเคยในการฟังและการทำความเข้าใจบ้างเหมือนกัน
อย่าว่าแต่เราเองที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เลย
แม้แต่ชาวอเมริกันเองที่ต้องสื่อสารกับชาวอังกฤษ
บางครั้งก็ยังไม่ค่อยเข้าใจสำเนียงอังกฤษเหมือนกัน หรืออย่างดูหนังสำเนียงอังกฤษ
บางครั้งก็อาจจะไม่ได้เข้าใจทุกคำทุกประโยคเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นใครที่กำลังฝึกการฟังอยู่
และอาจจะเริ่มรู้สึกท้อ รู้สึกว่ายาก หรือรู้สึกว่าฟังยังไงก็ยังฟังไม่ออกซักที
ในที่นี้ให้ทำความเข้าใจก่อนว่าการฟังให้ออกได้นั้นต้องใช้เวลาในการฝึกฟังและในการทำความคุ้นเคยกับสำเนียงแต่ละสำเนียงด้วย
และก็ไม่จำเป็นว่าต้องฟังออกทุกคำทุกประโยค เพราะอย่างที่บอกแล้วคือ
แม้แต่เจ้าของภาษาอังกฤษเองก็ยังฟังทุกสำเนียงไม่ออก 100% เลย
แต่อย่างน้อยเขาก็เข้าใจเนื้อหารวมๆ และสามารถสื่อสารกันได้อย่างราบรื่น
3. เนื่องจากการฝึกฟังจะต้องใช้ระยะเวลา
ความพยายาม และความสม่ำเสมอ เราควรที่จะฝึกฟังจากสิ่งที่เราสนใจก่อน อย่างเช่นถ้าเราชอบฟังเพลงและจะฝึกฟังจากเพลง
ก็ควรจะเลือกแนวเพลงที่เราชอบก่อน หรือเลือกศิลปินนักร้องที่เราชื่นชอบก่อน
เพราะจะทำให้เรามีแรงจูงใจในการฝึกฟังมากขึ้น
หรือถ้าเราชอบดูหนัง ดูซีรีส์
และจะฝึกฟังจากหนัง จากซีรีส์ ก็ควรจะเลือกดูหนังแนวที่เราชื่นชอบ
เพราะเราจะได้สนุกไปกับหนัง เนื้อหา และได้ฝึกภาษาไปในตัวด้วย
ในทางกลับกันถ้าเราชอบดูหนังแนวแอคชั่น
แต่เรากลับเลือกฝึกภาษาจากหนังดราม่า เราก็อาจจะดูแล้วรู้สึกเบื่อหรือง่วงได้
เพราะนอกจากจะไม่เข้าใจเนื้อหาบางช่วงบางตอนแล้วก็ยังอาจจะยังไม่สนุกกับการฝึกภาษาไปด้วยก็ได้
4. เริ่มฝึกฟังภาษาอังกฤษในระดับที่ไม่ยากเกินไปและไม่ง่ายเกินไปสำหรับเรา เพราะถ้าฝึกฟังในระดับที่ยากเกินไปอาจจะทำให้เราไม่ค่อยเข้าใจ
ฟังไม่ออก ไม่สนุก และรู้สึกท้อได้ อย่างเช่นถ้าเรากำลังเริ่มต้นฝึกฟัง
และภาษาของเรากำลังอยู่ในระดับพื้นฐาน
ถ้าเราไปฟังข่าวต่างประเทศตั้งแต่เริ่มต้นเลย เราอาจจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง
เพราะการรายงานข่าวนั้นค่อนข้างยืดยาวต่อเนื่อง ไม่ค่อยมีการหยุดเว้นวรรคมากนัก
น้ำเสียงก็ค่อนข้างราบเรียบ
และที่สำคัญเลยคือเราก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเนื้อหาในข่าวเท่าที่ควรเพราะเป็นเรื่องไกลตัว
และไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับตัวเรา
ในขณะเดียวกันถ้าเราฝึกฟังในระดับที่ง่ายเกินไป
ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่าย ไม่ท้าทาย และไม่สนุกได้
อย่างถ้าใครที่ภาษาอยู่ในระดับปานกลางหรือในระดับสูง
แล้วจะให้มาฝึกฟังบทสนทนาพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น การกล่าวทักทาย การแนะนำตัว
การพูดคุยเกี่ยวกับงานอดิเรก ก็อาจจะรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้ง่ายเกินไป
และน่าเบื่อเกินไปก็ได้
เพราะฉะนั้นตัวเราเองจะรู้ดีที่สุดว่าเราควรจะฟังเนื้อหาในระดับไหนที่ไม่ยากเกินไปและไม่ง่ายเกินไปสำหรับเรา
วิธีการสังเกตระดับที่เหมาะกับเราคือ ถ้าเราเลือกเรื่องที่จะฝึกฟังมาซักเรื่อง
แล้วลองฟังดูว่าเราฟังออกมากน้อยแค่ไหน สมมติว่าเราฟังออกประมาณ 70-80% ของเนื้อหาทั้งหมด
นั้นก็ถือว่าเป็นระดับที่กำลังดีแล้วสำหรับเรา
เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่เราอาจจะเข้าใจแล้ว แต่อาจจะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ
ที่ยังฟังไม่ทันบ้าง ไม่ว่าเป็นเพราะคำศัพท์ หรือสำเนียง หรือการพูดเร็วเกินไป
ก็จะทำให้เราได้ฝึกทักษะการฟังในส่วนนี้เพิ่มเติมต่อไปได้อีก
5. ถ้าเราเริ่มฟังจนชำนาญมากขึ้นแล้ว
ก็ควรจะฝึกฟังเนื้อหาที่มีความหลากหลาย จากสื่อประเภทต่างๆ มากขึ้น เพราะภาษาอังกฤษนั้นมีหลากหลายเนื้อหาและสถานการณ์
การที่เราสามารถเข้าใจเนื้อหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้
หมายความว่าทักษะการฟังของเราได้พัฒนามากขึ้นแล้ว
สมมติว่าเราฟังบทสนทนาในชีวิตประจำวันได้มากขึ้นแล้ว
เราอาจจะเปลี่ยนมาเป็นการดูหนังภาษาอังกฤษดูบ้าง
หรืออาจจะเปลี่ยนมาเป็นการฟังเพลงหลากหลายแนวมากขึ้น
หรือการดูหนังสารคดีความรู้ทั่วไป ก็จะทำให้เราพัฒนาทักษะการฟังได้มากขึ้นไปอีก
เพราะการที่เราฟังเนื้อหาเดิมๆ ซ้ำๆ
หรือจากสื่อประเภทเดิมๆ ซ้ำๆ จะทำให้เราฟังออกในเนื้อหาและภาษาที่ค่อนข้างจำกัด
อย่างเช่นการฟังเพลง ก็จะเป็นภาษาที่ใช้ในการร้องเพลง
ซึ่งบางครั้งก็อาจจะไม่เหมือนกันกับภาษาพูดทั่วไปในชีวิตประจำวัน
และอีกอย่างหนึ่งคือ การร้องเพลงก็จะมีจังหวะที่ชัดเจน และคำร้องก็จะต้องสอดคล้องไปกับจังหวะและโน้ตที่กำหนดไว้แน่นอนอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นการฟังเพลงอย่างเดียว
ก็อาจจะไม่เพียงพอให้เราฟังบทสนทนาในชีวิตประจำวันออกได้อย่างแน่นอน
หรือไม่ทำให้เราฟังการรายงานข่าวได้อย่างราบรื่นด้วยเช่นกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น