5 ข้อควรรู้และปฏิบัติในการเตรียมสอบ TOEFL iBT
ใครที่กำลังคิดว่าจะสอบ TOEFL iBT หรือกำลังเตรียมสอบอยู่ และคิดว่าข้อสอบนี้ทดสอบทักษะภาษาอังกฤษพื้นฐานอย่างการฟัง พูด อ่าน เขียน เพียงแค่นี้ คงจะต้องบอกไว้ก่อนว่า เข้าใจผิดแล้ว หรือใครที่คิดว่าแค่เราใช้ภาษาอังกฤษได้ดี สื่อสารกับชาวต่างชาติได้รู้เรื่องก็ทำข้อสอบ Speaking Section กับ Writing Section ได้สบายๆ อยู่แล้ว ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก คงจะต้องบอกอีกว่า ไม่แน่เสมอไปเหมือนกัน
เพราะจริงๆ แล้วข้อสอบ TOEFL นั้นเป็นข้อสอบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกับข้อสอบภาษาอังกฤษอื่นๆ
ทั่วไป และก็ยังไม่ได้ทดสอบแค่ทักษะพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังทดสอบทักษะอื่นๆ
อีกมากมายด้วยอย่างเช่น ทักษะการสรุปใจความสำคัญ (Summary) ทักษะการสรุปเป็นคำพูดของเราเอง (Paraphrase) ทักษะการสังเคราะห์ข้อมูลจากที่มาต่างๆ (Synthesis) ทักษะการจดสรุปย่อๆ (Note Taking) และยังรวมไปถึงทักษะการอ่านเร็ว (Speed
Reading) อีกด้วย
ดังนั้นใครที่คิดว่าจะสอบ TOEFL หรือกำลังเตรียมสอบอยู่นั้น
ควรจะรู้ว่าเราควรจะเตรียมตัวอะไรยังไงบ้าง
เพื่อให้ทำข้อสอบได้ดีมีประสิทธิภาพที่สุด และใช้เวลาคุ้มค่าที่สุดในการเตรียมสอบ
วันนี้เลยอยากแชร์ 5 ข้อควรรู้และปฏิบัติในการเตรียมสอบ TOEFL
iBT กัน และหวังว่าทิปทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่กำลังจะสอบกันครับ
1. ควรฝึกทำข้อสอบจากหนังสือ TOEFL ที่ออกโดย ETS ซึ่งเป็นผู้ออกข้อสอบ TOEFL อย่างเป็นทางการ หนังสือนี้มีชื่อว่า The
Official Guide to the TOEFL Test เพราะหนังสือเล่มนี้จะรวบรวมข้อสอบเก่าที่เคยใช้สอบมาแล้ว
ครบทุก Section ทั้งการอ่าน ฟัง พูด เขียน
พร้อมทั้งเฉลยและคำอธิบายเฉลยแต่ละข้ออย่างละเอียดชัดเจน
ซึ่งผู้ที่มีพื้นฐานอยู่ในระดับกลางและระดับสูง สามารถศึกษาอ่านเอง
ทำความเข้าใจเองได้ โดยเฉพาะในส่วน Reading Section และ Listening Section
ก่อนสอบ TOEFL สิ่งสำคัญที่สุดคือ
เราควรจะรู้แนวข้อสอบก่อนว่าข้อสอบนี้สอบทักษะอะไรยังไงบ้าง ยากง่ายมากน้อยแค่ไหน
และเราจะได้เตรียมตัวได้ถูกว่าควรฝึกทักษะอะไรเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหนบ้าง
อย่างในข้อสอบ Reading กับ Listening นั้นมีเนื้อหามาจากหลากหลายสาขาวิชาตั้งแต่เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์
ดาราศาสตร์ ชีววิทยา ธรณีวิทยา ไปจนถึงศิลปะ และภาษาศาสตร์
ดังนั้นเราควรจะฝึกอ่านฝึกฟังและท่องศัพท์ให้กว้างหลากหลายสาขาไว้ด้วย
ข้อแนะนำคือ ถ้าทำข้อสอบในหนังสือของ ETS แล้ว ได้คะแนนเท่าไหร่ พอไปทำข้อสอบจริงที่ศูนย์สอบ เราก็น่าจะได้คะแนนพอๆ
กัน เพราะฉะนั้นถ้าตอนที่เราทำข้อสอบในหนังสือเล่มนี้
แล้วได้คะแนนน้อยหรือยังไม่เป็นที่พอใจมากนัก เราก็ยังไม่ควรจะไปสอบจริง
แต่ควรจะฝึกทักษะเพิ่มเติมให้ได้มากที่สุดจนกว่าจะพอใจก่อนแล้วจึงค่อยไปสอบจริง
2. ควรจะจับเวลาในการทำข้อสอบด้วย เพราะเวลาไปทำข้อสอบจริง ก็จะมีเวลาจำกัดในแต่ละ Section ด้วยอย่างเช่นข้อสอบการเขียนซึ่งมีทั้งหมด 2
Part ใน Part 1 นั้นจะให้เราอ่านบทอ่านสั้นๆ แล้วจากนั้นจะให้ฟังบทบรรยายสั้นๆ
จากนั้นจึงจะให้เราเขียนสรุปเกี่ยวกับเนื้อหาดังกล่าว ความยาวประมาณ 150-225 คำ และให้เวลาในการเขียน 20 นาที
(ไม่นับเวลาในการอ่านบทอ่านและเวลาในการฟังบทบรรยาย) ส่วนใน Part 2 นั้นจะให้เราเขียน Essay แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อที่กำหนดให้
ความยาวประมาณ 300-350 คำ และให้เวลาในการเขียน 30 นาที
ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมตัวสอบสำหรับการเขียน
2.1 ถ้าตอนเราฝึกทำข้อสอบการเขียนทั้ง 2
Part นี้ จับเวลาไปด้วย แต่เขียนไม่เสร็จทันเวลา
ก็ยังไม่ควรจะไปสอบจริง แต่ควรจะฝึกทักษะการเขียนให้คล่องๆ มากขึ้นก่อน
และสามารถเขียนเนื้อหาและความยาวได้ตามกำหนด เสร็จทันเวลา แล้วจึงค่อยไปสอบจริงได้ การฝึกเขียนและจับเวลาไปด้วยจะช่วยกระตุ้นให้เราคิดวางแผนและเขียนได้ไวขึ้น
และยังช่วยให้เราคุ้นเคยกับการเขียนในเวลาจำกัด
จะได้รู้ว่าต้องคิดและเขียนไวมากน้อยแค่ไหนในวันสอบจริงด้วย
2.2 ในตอนเริ่มฝึกเขียน
อาจจะยังไม่ต้องจับเวลา แต่ให้เน้นฝึกคิด ฝึกเขียน และเรียบเรียงเนื้อหาให้ต่อเนื่องให้ดีก่อน
นอกจากนี้แล้วอาจจะฝึกเขียนประโยคให้มีโครงสร้างประโยคหลากหลาย เช่น
ประโยคความเดียว ความรวม ความซ้อน หรือเขียนรูปแบบประโยคให้มีความหลากหลาย
เช่นการใช้ Gerund (V.ing), to-infinitive, adjective, adverb และควรจะฝึกใช้คำให้หลากหลายด้วย โดยพยายามอย่าใช้คำเดิมซ้ำๆ กันบ่อยๆ
เพราะผู้ตรวจข้อสอบการเขียนของเราจะคิดว่าการที่เราใช้คำเดิมซ้ำๆ กันบ่อยๆ
นั้นเป็นเพราะว่าเรารู้คำศัพท์น้อยและไม่ค่อยหลากหลาย ดังนั้นก่อนจะเริ่มฝึกเขียนแบบจับเวลา
ควรจะฝึกทักษะการเขียนเหล่านี้ให้คล่องๆ ก่อน
พอเริ่มฝึกเขียนจนชำนาญมากขึ้นแล้วจึงค่อยเริ่มฝึกเขียนแบบจับเวลาครับ
2.3 ใครที่ไม่ค่อยถนัดการพิมพ์คีย์บอร์ดหรือพิมพ์ได้ค่อนข้างช้า
ควรจะฝึกทักษะการพิมพ์สัมผัสไว้ด้วย
เพราะเวลาในการทำข้อสอบเขียนนั้นค่อนข้างน้อยมาก เราต้องคิด พิมพ์
และแก้ไขตรวจสอบการสะกดในงานเขียนให้เรียบร้อยภายในเวลา 20-30 นาที
ถ้าใครคิดเนื้อหาได้ไวแต่ว่าพิมพ์ได้ช้าก็อาจจะทำข้อสอบการเขียนไม่เสร็จทันเวลาก็ได้
3. ควรฝึกจดสรุปย่อๆ
สั้นๆ ไปด้วยในขณะทำข้อสอบ ทักษะนี้เป็นทักษะที่สำคัญมากๆ
โดยเฉพาะสำหรับข้อสอบการฟัง เพราะการฟังในแต่ละเรื่องนั้นมีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว
และมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย
อย่างเช่นถ้าเราฟังการบรรยายเรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็มักจะมีการเล่าเรื่องตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังและมีปี
ค.ศ. หรือทศวรรษระบุไว้ด้วย บางครั้งคำถามก็จะให้เราลำดับเหตุการณ์ 4-5 เหตุการณ์ตามลำดับก่อนหลัง หรืออาจจะถามว่าในปี ค.ศ. นี้เกิดเหตุการณ์อะไร
ส่วนการบรรยายบางเรื่องอาจจะพูดถึงงานวิจัยต่างๆ
ที่ผ่านมา แล้วก็ยกตัวอย่างว่ามีนักวิจัยคนไหนวิจัยเรื่องอะไรบ้าง
ส่วนคำถามก็อาจจะถามว่านักวิจัยคนนี้วิจัยเรื่องอะไร
หรืองานวิจัยของใครที่มีผลสรุปแบบนี้ หรืองานวิจัยของคนนี้แตกต่างจากงานวิจัยของอีกคนอย่างไร การที่เราฟังการบรรยายอย่างเดียวโดยไม่จดสรุปย่อๆ
สั้นๆ ไปด้วยนั้น เราก็อาจจะฟังทันและเข้าใจเนื้อหาได้ดี
แต่ก็อาจจะไม่สามารถจดจำรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ ได้ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะฝึกฟังไปด้วยแล้วจดสรุปสำคัญๆ ไว้ด้วย ซึ่งทักษะนี้เป็นทักษะที่ค่อนข้างยากและต้องใช้เวลาในการฝึกพอสมควร
เพราะบางทีเวลาเราจดเราก็อาจจะลืมฟังได้ หรือจดไปด้วยฟังไปด้วยไม่ทันก็ได้
4. ควรฝึกทำข้อสอบในเวอร์ชั่นคอมพิวเตอร์ เพราะในการสอบจริง เราจะต้องทำข้อสอบทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ เริ่มตั้งแต่ Reading
Section ก็จะต้องอ่านบทความในคอมพ์
แล้วอ่านคำถามเลือกคำตอบในคอมพ์ทั้งหมด ไปจนถึง Listening Section,
Speaking Section, และ Writing Section ซึ่งต้องอ่านคำถามและพิมพ์คำตอบ (Essay) ลงในคอมพ์ทั้งหมด
ซึ่งการสอบนั้นใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 4 ชั่วโมง
ในระหว่างนี้มีช่วงพักเบรก 10 นาที
นั้นหมายความว่าเราจะต้องจ้องหน้าจอคอมพ์แทบจะตลอดเวลา
ซึ่งบางคนอาจจะไม่เคยชินกับการจ้องหน้าจอคอมพ์ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
และอาจจะรู้สึกล้าสายตาได้
นอกจากนี้แล้วการฝึกทำข้อสอบในเวอร์ชั่นคอมพ์
จะช่วยให้เราปรับความคุ้นเคยกับการทำข้อสอบได้มากขึ้น เช่นการอ่านบทความ
การอ่านคำถาม และการคลิกเลือกคำตอบ
รวมไปถึงการพิมพ์คีย์บอร์ดและการใช้เมาส์ในการเลือกคำตอบต่างๆ ข้อแนะนำคือ สำหรับใครที่ฝึกทำข้อสอบในหนังสือจนคล่องแล้ว ก่อนไปสอบจริง
ควรจะได้ฝึกทำข้อสอบในคอมพ์ด้วย เพราะการทำข้อสอบในหนังสือกับการทำในคอมพ์นั้นให้ความรู้สึกไม่เหมือนกัน
บางคนอาจจะคล่องการทำข้อสอบในหนังสือแต่ไม่คล่องการทำในคอมพ์
ก็อาจจะทำให้ทำข้อสอบได้ไม่เต็มที่
หรือบางคนอาจจะอ่านหนังสือแล้วรู้สึกอ่านง่ายสบายตา
แต่พอไปอ่านบทความในหน้าจอคอมพ์แล้ว กลับรู้สึกแสบตา เหนื่อยล้าสายตากว่าปกติได้
ทางที่ดีจึงควรที่จะฝึกปรับตัวให้เข้ากับการทำข้อสอบในคอมพ์ก่อนการสอบจริงด้วยครับ
5. ควรฝึกทำข้อสอบในสถานที่ที่มีสิ่งรบกวนสมาธิบ้าง เพราะในวันสอบจริงนั้นมักจะมีสิ่งรบกวนสมาธิเราในระหว่างการทำข้อสอบได้อยู่เสมอ
เช่นเสียงรบกวนจากผู้ร่วมสอบในห้องสอบเดียวกัน เราอาจจะกำลังทำข้อสอบการเขียนอยู่
ในขณะที่เพื่อนร่วมสอบบางคนอาจจะกำลังสอบการพูดอยู่
และเสียงพูดนั้นอาจจะดังจนรบกวนสมาธิในการเขียนของเราได้ สถานที่สอบแต่ละที่
แต่ละวันอาจจะมีผู้เข้าสอบจำนวนมากน้อยต่างกัน
ถ้ามีผู้เข้าสอบมากก็อาจจะมีเสียงรบกวนมาก
หรือถึงแม้บางที่จะมีผู้เข้าสอบไม่มากนัก
แต่ผู้เข้าสอบบางคนอาจจะพูดเสียงดังมากจนเสียงนั้นรบกวนสมาธิในการทำข้อสอบของเราได้
นอกจากเสียงรบกวนจากเพื่อนร่วมสอบแล้วอาจจะมีเสียงรบกวนจากเจ้าหน้าที่ด้วยเหมือนกัน
เพราะในระหว่างสอบนั้น
เจ้าหน้าที่อาจจะเดินเข้ามาตรวจตราความเรียบร้อยในห้องสอบได้
อาจจะมีเสียงเปิดประตู เสียงเดินผ่าน หรือการให้คำแนะนำกับผู้ร่วมสอบคนอื่นๆ
ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้เราทำข้อสอบได้เต็มที่
เราไม่ควรที่จะคาดหวังว่าห้องสอบจะเงียบสงบ 100% แต่ควรจะฝึกสมาธิในการทำข้อสอบให้มากขึ้น
และสามารถทำข้อสอบได้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะมีสิ่งรบกวนอะไรก็ตาม
โดยในขณะฝึกทำข้อสอบอาจจะลองไปนั่งทำในร้านกาแฟที่มีคนพูดคุยกันหรือมีคนเดินไปเดินมาบ้างก็ได้ครับ
การเตรียมตัวสอบที่ดีจะช่วยให้เราเตรียมทักษะได้ตรงกับแนวข้อสอบ ได้คุ้นเคยกับข้อสอบ และทำข้อสอบได้ทันเวลา ถ้าเราสามารถเตรียมตัวได้อย่างนี้ รับรองว่าเราจะทำข้อสอบได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
การเตรียมตัวสอบที่ดีจะช่วยให้เราเตรียมทักษะได้ตรงกับแนวข้อสอบ ได้คุ้นเคยกับข้อสอบ และทำข้อสอบได้ทันเวลา ถ้าเราสามารถเตรียมตัวได้อย่างนี้ รับรองว่าเราจะทำข้อสอบได้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น